Rolex Submariner หน้าเขียว VS GMT Master II น้ำเงินดำ

หน้าแรก Rolex โรเล็กซ์ Rolex Submariner หน้าเขียว VS GMT Master II น้ำเงินดำ

หนึ่งในคำถามที่เราได้รับมามากที่สุดคือ “Rolex Submariner หน้าเขียว หรือ GMT Master II ดีกว่ากัน?” คำถามนี้มักจะเป็นคำถามที่จะฟันธงคำตอบได้ยาก ถ้าเป็นผู้ขาย เขาก็คงจะเชียร์เรือนที่เขามีพร้อมขาย หรือหากเป็นผู้ใช้ มีเรือนไหนก็คงเชียร์เรือนนั้น หรือว่าถ้ามีทั้งสองเรือน ก็เชียร์ทั้งสองเรือน ดังนั้น เราจึงคิดว่าถ้าหากมีการเทียบกันทั้งสองเรือน โดยนำข้อมูลของนาฬิกา รวมถึงการใส่ใช้งานจริงของเรามาเทียบอย่างเป็นกลาง น่าจะเป็นบทความที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย ในบทความนี้เราจึงนำนาฬิกา Rolex ส่วนตัว 2 เรือนระหว่าง Rolex Submariner Date (Ref. 116610LV) และ Rolex GMT Master II (Ref. 116710BLNR) มาเปรียบเทียบทุกมุมมองให้ได้เห็นชัด ๆ กันครับ

Rolex GMT Master II (Ref. 116710BLNR) “Batman” และ Rolex Submariner Date (REF. 116610LV) “Green-Sub”| © LWQP

ขอบตัวเรือน (Bezel)

ขอบตัวเรือน (bezel) ของนาฬิกาทั้ง 2 รุ่นนั้นทำมาจากวัสดุที่เรียกว่า “Cerachrom” ซึ่งทาง Rolex ได้ยื่นจดลิขสิทธิ์ไว้ตั้งแต่ปี 2005 โดย Cerachrom นั้นมีความพิเศษจากความทนทานต่อรอยขีดข่วน ไม่ถูกกัดกร่อนจากสภาวะต่างๆ (เช่น น้ำทะเล) และสีไม่ซีดจางลงเมื่อเทียบกับขอบฟิล์มแบบที่ใช้ในบรรดารุ่นวินเทจต่าง ๆ (นักสะสมบางคนก็ชอบให้สีมันซีดเก่ามากกว่า) ตัวเลขบนขอบตัวเรือนเองก็ได้รับการเคลือบแพลตินัมเพื่อความคงทนด้วยกรรมวิธี PVD (เคลือบทั้งขอบในตอนแรกแต่การขัดชิ้นขอบด้วยผงเพชรเพื่อความมันวาวทำให้เหลือแค่เพียงส่วนที่เคลือบแค่ตัวเลข)

Rolex Submariner Date (REF. 116610LV) | © LWQP

ในมุมมองของเรา แต้มต่อของ GMT Master II มีสูงกว่า “Green-Sub” อยู่บ้างเพราะต้องใช้กรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อนมากกว่าการใส่เม็ดสีเขียวเพียงสีเดียว (เริ่มผลิตในเพื่อการจำหน่ายได้ปี 2007) ซึ่งทาง Rolex เพิ่งประสบความสำเร็จเมื่อปี 2013 ที่ผ่านมานี้เอง อีกทั้งสีดำ-น้ำเงินยังเป็นสีผสมคู่แรกที่ Rolex สามารถผลิตได้อีกด้วย (ก่อนหน้านี้ Rolex เคยประกาศเองว่าไม่มีทางที่จะผลิตแบบสีผสมได้) ซี่ขอบตัวเรือนระหว่าง Batman กับ Green-Sub แทบไม่มีความแตกต่างกัน แต่ของทาง Green-Sub จะหมุนได้ด้านเดียวเพราะออกแบบมาให้เหมาะกับการดำน้ำที่เวลาต้องเดินไปข้างหน้าอย่างเดียว ไม่เหมือน Batman ที่มีระบบ GMT ที่ยืดหยุ่นให้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศที่ต้อง +/- เวลา

Rolex GMT Master II (Ref. 116710BLNR) | © LWQP

หน้าปัด (Dial)

เราแทบไม่พบความแตกต่างเลยนอกเสียจากเรื่องของโทนสีกับบรรทัดอักษรบนหน้าปัดที่แสดงคุณสมบัติการกันน้ำ 1000ft = 300m ที่ทำให้ Green-Sub ดูหนักแน่นพร้อมลุยกว่า GMT และหน้าปัดแบบ Sunburst ของ Green-Sub จะเด่นเตะตากว่าเมื่อโดนแสงจากใช้การผสมผงทอง รวมถึงการปรับโทนสีให้เข้มกว่าขอบหน้าปัด, ตราแบรนด์, เข็มนาฬิกา, พรายน้ำ, และหลักชั่วโมงเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด

Rolex GMT Master II (Ref. 116710BLNR) และ Rolex Submariner Date (REF. 116610LV) | © LWQP

แต่ Batman จะมีเข็ม GMT สีน้ำเงินเพิ่มขึ้นมาอีกเข็มตามฟังก์ชัน ทว่าโทนสีเขียวของ Green-Sub เองก็มีข้อด้อยกว่า Batman ในแง่ของความยืดหยุ่นในการใช้งาน อย่าลืมว่าสีเขียวไม่ได้เหมาะกับทุกสไตล์การแต่งตัวเท่าสีโทนมืด (อย่างน้อยมันก็ไม่เข้ากับสูทหรือทักซิโด้สีดำขลับที่เป็นไอเท็มติดตู้ของผู้ชายแน่นอน) หน้าต่างวันที่ของนาฬิกาทั้ง 2 รุ่นได้รับการขยายด้วยกระจกไซครอปที่ติดตั้งอยู่บนกระจกแซฟไฟร์ที่มีสมบัติการทนทานต่อการขีดข่วนได้อย่างดี การติดตั้งกระจกไซครอปทำให้เรามองว่าเป็นข้อดีที่ไม่ต้องใช้ตาเพ่งมากในตอนมอง และเป็นมิตรต่อผู้ใช้งานที่เริ่มสูงวัยขึ้น

Rolex Submariner Date (REF. 116610LV) | © LWQP
Rolex GMT Master II (Ref. 116710BLNR) | © LWQP

วัสดุและการขัดแต่ง (Material & Polishing)

วัสดุที่ใช้ผลิตของทั้ง Green-Sub และ Batman คือสแตนเลสสตีลเกรด 904L ซึ่งมีข้อดีกว่า 316L ที่ใช้ในนาฬิกาทั่วไป ซึ่งเรามองว่า Rolex สามารถเปลี่ยนมาใช้ 904L ได้ เพราะว่ายอดขายที่มีจำนวนมาก ทำให้สามารถสั่งผลิตด้วยวัสดุที่เหนือจากตลาดได้ สร้างความแตกต่างให้กับสินค้า และคุณภาพของวัสดุที่ดีกว่า

Rolex GMT Master II (Ref. 116710BLNR) และ Rolex Submariner Date (REF. 116610LV) | © LWQP

ด้านสมบัติการกันน้ำ Green-Sub สามารถทำได้ดีกว่าอย่างไม่ต้องสงสัยแม้ว่า Batman จะใช้ระบบกันน้ำ Triplock แบบเดียวกันก็ตามที (สังเกตได้จากเม็ดมะยมด้านข้างที่มีจุดสามจุดใต้มงกุฏ) แต่ในแง่การใช้งานแบบปุถุชนแล้ว คุณสมบัติการกันน้ำได้ 100 เมตรของ Batman นั้นเพียงพอแน่นอนครับ

Rolex GMT Master II (Ref. 116710BLNR) และ Rolex Submariner Date (REF. 116610LV) | © LWQP
Rolex GMT Master II (Ref. 116710BLNR) และ Rolex Submariner Date (REF. 116610LV) | © LWQP

ข้อแตกต่างอีกจุดหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือข้อกลางของสายนาฬิกาสแตนเลสของ Batman จะได้รับการขัดแต่งให้ดูหรูหรา ไม่เหมือนกับ Green-Sub ที่เป็นการขัดด้าน สะท้อนถึงความแตกต่างของจุดมุ่งหมายการใช้งาน ระบบล็อคสายของทั้ง 2 เรือนเป็นแบบ Oysterlock ซึ่งสะดวกต่อการใช้งานอย่างยิ่งเพราะสเกลการปรับมีความละเอียดสูง และผู้ใช้งานสามารถปรับได้เองตามใจชอบ ขนาดของตัวเรือนทั้ง Batman และ Green-Sub คือ 40 มม. ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานของนาฬิกาผู้ชายในปัจจุบัน ดังนั้นไม่น่าเป็นปัญหาอะไร

Rolex GMT Master II (Ref. 116710BLNR) | © LWQP

กลไก (Calibre)

เฉกเช่นเดียวกับ Rolex Submariner รุ่นอื่น ๆ เลือดของ Green-Sub เองก็สูบฉีดด้วยหัวใจจักรกลอัตโนมัติ caliber 3135 ซึ่งทางแบรนด์ใช้เป็นหลักมาตั้งแต่ปี 1988 ความสามารถในการสำรองพลังงานอยู่ที่ 48 ชม. กลไกได้รับการตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานความเที่ยงตรงแบบ Superlative Chronometer หรือ “Green Seal” (COSC + การตรวจสอบโดย Rolex หลังจากติดตั้งกลไกเข้ากับตัวเรือน) กลไกของ Rolex จึงมีความเบี่ยงเบนเพียง -2 / +2 วินาทีต่อวัน

กลไกของ GMT Master II และ Submariner Date

ความเที่ยงตรงดังกล่าวสะท้อนถึงของความก้าวหน้า และการตรวจสอบคุณภาพที่เข้มแข็งของแบรนด์ ด้าน Batman ใช้กลไก calibre 3186 ซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่าเล็กน้อยด้วยฟังก์ชัน GMT ที่ใช้ปรับให้เข้ากับแต่ละเขตเวลา และมีเด่นด้วยกำลังสำรองที่มากกว่าอยู่ 2 ชม. (50 ชม.) ซึ่งจากการใช้งานจริงของเราแล้ว จำนวน 2 ชม.ที่เพิ่มมาแทบไม่มีนัยสำคัญเลย เพราะการเคลื่อนไหวของข้อมือในชีวิตประจำวันนั้นก็เติมกำลังลานในกับกลไกอยู่ตลอดอยู่แล้วด้วย กลไกทั้งสองใช้แฮร์สปริงแบบ Parachrom ที่ทนทานต่อแรงกระแทก และความผกผันของอุณหภูมิได้อย่างดี ความถี่การเดินของทั้งกลไก caliber 3135 และ calibre 3186 นั้นเท่ากันที่ 28,800 vph ในปัจจุบันทาง Rolex เองก็ยังขยายเวลารับประกันให้เป็น 5 ปีอีกด้วย

เปรียบเทียบ

ถ้าหากจะให้ตัดสินใจเลือกเรือนใดเรือนหนึ่ง เรายังคงมองว่า GMT Master II ยังคงสะดวกสำหรับการใช้งานสำหรับการเดินทาง (ยกเว้นจะเดินทางไปอินเดีย ที่ GMT+5.5 ทำให้ฟังก์ชัน GMT ไร้ประโยชน์) รวมถึงขอบสีน้ำเงินและดำที่เหมาะกับการสวมใส่ในทุก ๆ ที่ ดังนั้นเราคงจะต้องเทใจให้กับ Batman ในการเปรียบเทียบครั้งนี้

Rolex GMT Master II (Ref. 116710BLNR) และ Rolex Submariner Date (REF. 116610LV) | © LWQP

Batman กับ Green-Sub มีราคาอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 317,100 และ 320,900 บาทตามลำดับ แต่แน่นอนว่าขึ้นชื่อว่า Rolex แล้ว ความต้องการย่อมมีมากกว่าสินค้าที่มีเสมอทำให้ในปัจจุบัน ทำให้ราคาของทั้งสองเรือนยังคงขยับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนว่าการที่สะสมในเชิงเก็งกำไร จะเป็นการสะสมที่ดึงดูดให้ตัดสินใจสะสมนาฬิกาง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อย่าปิดกั้นการเรียนรู้ของตนเอง เพราะความน่าสนใจของศาสตร์นาฬิกานั้นไม่ควรถูกจำกัดไว้แค่เพียงราคาขายต่อเท่านั้น เลือกซื้อนาฬิกาที่เรารักและเรียนรู้จักมันอย่างลึกซึ้ง ยังคงเป็นพื้นฐานที่ทำให้เราก้าวไปเป็นนักสะสมอย่างแท้จริง


ขอขอบคุณ: www.lwqponline.com